10 จุดเช็คอินที่ไม่ควรพลาด เมื่อไปเยือนหมู่เกาะสุรินทร์
1. เกาะตอรินลา (เกาะไข่)
ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะสุรินทร์ใต้ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 6 กิโลเมตร เป็นเกาะเล็ก ๆ แต่เป็นจุดดำน้ำที่ใหญ่และสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะสุรินทร์ บางคนเรียกกองเหลือง เพราะบริเวณนี้มีทั้งแนวปะการังและกองหินใต้น้ำสลับกัน จัดเป็นจุดดำน้ำที่ใหญ่มาก กินอาณาเขตเกือบทั่วร่องน้ำระหว่างเกาะตอรินลากับเกาะสุรินทร์ใต้ มีดงปะการังเขากวางที่กว้างใหญ่ มีปลาสวยงามมากมาย และที่โดดเด่นคือมีปลากระโทงแทงกระโดดให้เห็นกันบ่อย ๆ ถือเป็นจุดชมปลากระโทงแทงชั้นเยี่ยมแห่งหนึ่งของทะเลไทย ข้อควรระวังสำหรับนักดำน้ำคือบริเวณร่องน้ำเกาะตอรินลา มีกระแสน้ำอันรุนแรง บางครั้งไหลวน จึงควรดำน้ำด้วยความระมัดระวัง
2. กองหินริเซริล
ภูเขาหินปริ่มน้ำกลางทะเลทางตะวันออก ไกลจากหมู่เกาะสุรินทร์ประมาณ 14 กิโลเมตร ลักษณะของหินกองใต้น้ำเหมือนภูเขาที่ตั้งอยู่กลางผืนทรายใต้น้ำ จะโผล่พ้นน้ำในช่วงเวลาน้ำลงมาก ๆ เท่านั้น เป็นจุดดำน้ำที่สวยงามมากที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งที่ฉลามวาฬว่ายแวะเวียนมากินอาหาร
3. อ่าวช่องขาด
เป็นร่องน้ำคั่นกลางอยู่ระหว่างเกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้ โดยมีพื้นน้ำตื้น ๆ กว้างประมาณ 200 เมตร กั้นอยู่ ในช่วงน้ำลงสามารถข้ามไปยังอีกเกาะได้ และเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติบนเกาะ อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมก่อนเดินทางไปท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ภายในอุทยาน เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งบ้านพัก-เต็นท์ ร้านอาหารสวัสดิการ ห้องน้ำ ห้องสุขา นักท่องเที่ยวนิยมฝึกดำน้ำที่นี่ก่อนออกไปดำน้ำตามจุดต่าง ๆ รอบ ๆ เกาะ เนื่องจากระดับน้ำค่อนข้างตื้น และบริเวณนี้ยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมาก
4. อ่าวจาก
อยู่ด้านทิศตะวันออกของเกาะสุรินทร์เหนือ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 10 กิโลเมตร ที่นี่เป็นอีกแหล่งที่มีแนวปะการังในอ่าวใหญ่ที่สวยงาม ด้านในเป็นปะการังเขากวาง ปะการังพุ่ม ปะการังกิ่ง ด้านนอกมีปะการังก้อนสลับกับปะการังเขากวางกว้างใหญ่ อีกทั้งยังเป็นจุดดำน้ำตื้นที่จะได้เห็นสัตว์ทะเลอย่างหอยมือเสือและปลาสวยงามต่าง ๆ
5. อ่าวเต่า
อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะสุรินทร์ใต้ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 2 กิโลเมตร เป็นแนวปะการังริมเกาะ กว้าง 50-200 เมตร แนวปะการังหักชันลงที่ลึก 20-25 เมตร อย่างรวดเร็ว บริเวณด้านในของแนวปะการังจะพบกับปะการังขนาดเล็ก บริเวณตรงกลางของแนวปะการังพบปะการังหลากหลายชนิด สำหรับบริเวณขอบแนวปะการังพบปะการังก้อนขนาดใหญ่ มีปะการังอ่อนและกัลปังหาอยู่เป็นหย่อม ๆ ในที่ลึก สัตว์เด่นบริเวณนี้คือเต่ากระ นอกจากนี้ยังมีสัตว์หลากหลายชนิด แม้แต่กระเบนราหูหรือฉลามวาฬ ก็เคยมีนักดำน้ำแบบดำผิวน้ำพบเห็นในบริเวณนี้เช่นกัน
6. อ่าวผักกาด
เป็นอ่าวเล็ก ๆ อยู่ทางทิศใต้ของเกาะสุรินทร์ใต้ เลยอ่าวเต่าไป อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 5 กิโลเมตร แนวปะการังริมฝั่งกว้างประมาณ 50-150 เมตร มีชายหาดเล็ก ๆ แนวปะการังหักชันตรงขอบลงสู่ความลึก 15-20 เมตร ด้านล่างเป็นพื้นทราย สามารถพบเห็นปะการังอ่อนและกัลปังหาได้บ้าง ที่นี่เป็นจุดที่มีปะการังหลากหลายชนิดในพื้นที่แคบ ๆ พบทั้งปะการังก้อน แผ่นตั้ง แผ่นนอน เขากวาง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีสัตว์ทะเลที่น่าสนใจ เช่น ดอกไม้ทะเล หอยมือเสือ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในน้ำลึก อาจทำให้มองเห็นไม่ชัดสำหรับผู้ที่ชอบดำน้ำแบบผิวน้ำ ที่นี่มีปลาเกือบทุกชนิดที่พบในหมู่เกาะสุรินทร์ มาดำน้ำที่อ่าวผักกาดจึงต้องสังเกตปลาเป็นหลัก โดยเฉพาะปลาผีเสื้อและปลาสินสมุทร เพราะที่นี่มีปลาสองกลุ่มนี้หลากหลาย ว่ากันว่าหากใครมาหมู่เกาะสุรินทร์แล้วไม่ได้มาดำน้ำที่นี่ถือว่ามาไม่ถึง
7. อ่าวไม้งาม
อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะสุรินทร์เหนือ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 2 กิโลเมตร ด้านตะวันตกของอ่าวเป็นแนวปะการังในอ่าวใหญ่ ขอบแนวปะการังห่างฝั่ง 200-500 เมตร การเดินทางไปอ่าวแห่งนี้ทำได้ 2 แบบ คือเดินเท้าตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติหาดไม้งาม ความยาว 2,000 เมตร อีกแบบหนึ่งคือนั่งเรือ แต่เรือไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าอ่าวไม้งาม เนื่องจากน้ำตื้นมาก จึงต้องไปจอดเรือที่หาดเล็ก ๆ ก่อนเดินเท้าต่อไปอีก 200 เมตร นักท่องเที่ยวจะได้มีโอกาสเดินชมป่า ก่อนที่จะไปดำน้ำริมหาด บริเวณอ่าวไม้งามเป็นหาดทรายธรรมชาติที่งดงาม มีปูเสฉวนจำนวนมาก บริเวณอ่าวไม้งามนี้ทางอุทยานได้จัดทำสถานที่กางเต็นท์ ห้องน้ำ-ห้องสุขาไว้บริการนักท่องเที่ยวที่สนใจมาพักแรมแบบแคมปิ้งไว้ด้วย
8. อ่าวสุเทพ
อยู่บนเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นอ่าวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะนี้ มีแนวประการังยาวถึง 1,200 เมตร ห่างจากฝั่ง 200-500 เมตร หรือมากกว่านั้น ด้านในของแนวปะการังเป็นปะการังขนาดเล็กปนเศษปะการัง ด้านนอกของแนวเป็นปะการังก้อนขนาดใหญ่สลับกับปะการังแผ่นนอนใหญ่มาก ขอบแนวปะการังลาดลงสู่พื้นทราย ความลึก 15 เมตร สามารถพบเห็นปะการังอ่อนและกัลปังหา หอยมือเสือ และปลาสวยงาม ซึ่งอ่าวสุเทพอยู่ไม่ไกลจากบริเวณที่พักของอุทยานแห่งชาติ (อ่าวช่องขาด) แต่มีนักท่องเที่ยวน้อย เพราะเรือวิ่งข้ามช่องขาดมาได้เฉพาะช่วงน้ำขึ้น อ่าวสุเทพจึงค่อนข้างสงบ เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบความเป็นส่วนตัว
9. อ่าวบอน
เป็นอ่าวใหญ่ที่ชาวเลเคยอาศัยอยู่บริเวณนี้ ต่อมาเกิดโรคระบาดจึงย้ายถิ่นฐานไปอยู่ฝั่งตรงข้ามที่ทำการอุทยานแห่งชาติ แต่ปัจจุบันได้มีการอพยพโยกย้ายชาวเลกลับมาอาศัยอยู่ที่เดิม บริเวณด้านหน้าของอ่าวนี้จะมีปะการังที่สวยงาม
10. หมู่บ้านชาวเลหรือมอแกน
ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณอ่าวบอน เกาะสุรินทร์ใต้ ประมาณ 200 คน เป็นชนเผ่าที่มีวิถีการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมหาเลี้ยงชีพโดยการงมหอย แทงปลา มอแกนไม่มีภาษาเขียนบางคนสามารถพูดภาษายาวีและภาษาไทยได้บ้าง เด็กมอแกนคุ้นเคยกับทะเลตั้งแต่ยังเด็ก บางคนว่ายน้ำได้พร้อม ๆ กับที่เดินได้ พ่อแม่จะปล่อยให้เด็กเล็ก ๆ พายเรือเล็กเล่นโดยลำพังโดยไม่ต้องมีใครดูแล มอแกนมีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับทะเลมาเป็นเวลาหลายร้อยปี จึงมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเดินเรือ การดูทิศทางโดยอาศัยดวงดาว ลมและคลื่น รวมทั้งการว่ายน้ำและการทำมาหากินทางทะเล
CR: KAPOOK.COM
ทัวร์ในประเทศคลิ๊ก https://bit.ly/30SpcPN
Leave a Reply