ไหว้พระธาตุประจำปีเกิด 12 ปีเกิดนักษัตร
พระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่ = ปีชวด
เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระทักษิณโมลีธาตุ พระธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีขนาดเท่าเมล็ดพุทรา สัณฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวลเหมือนดอกบวบ หรือ สีคล้ายดอกพิกุลแห้ง ตามประวัติเล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ดอยจอมทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 218 ปัจจุบันพระธาตุถูกบรรจุไว้ในพระโกศ 5 ชั้น ตั้งอยู่ภายในพระวิหารจตุรมุข ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ มีฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส คล้ายพระเจดีย์ กว้าง 4 เมตร สูง 8 เมตร สร้างขึ้นโดยพระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช หรือพระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2060
พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง = ปีฉลู
ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจารึกไปตามบ้านเมืองต่างๆ จนถึงบ้านสัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง) พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่าลัมภกัปปะนคร และทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอน ลัวะอ้ายกอนจึงได้นำพระเกศานั้นบรรจุในผอบทองคำ ใส่ลงในอุโมงค์ พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน ก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์อีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม จนเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ = ปีขาล
วัดนี้มีเจดีย์บรรจุพระเกศาและพระบรมสารีริกธาตุ พระศอกซ้ายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเมืองแพร่มาแต่โบราณ ตามตำนานกล่าวว่าขุนลัวะอ้ายก้อมเป็นผู้สร้าง ปรากฏหลักฐานการบูรณะปฏิสังขรณ์ระหว่าง พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท) เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ลักษณะองค์พระธาตุเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะแบบเชียงแสน สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูน หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ลงรักปิดทอง
พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน = ปีเถาะ
จากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้านครน่าน ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไคร้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง
พระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ = ปีมะโรง
สร้างขึ้นในสมัยเดียวกับการตั้งวัด โดยเป็นศิลปะแบบล้านนา หริภุญชัยผสมลังกา ที่เน้นความงามเรียบง่าย พระธาตุเจดีย์แห่งนี้ พระเจ้าผายู เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1888 ต่อมาได้บูรณะใหม่สมัยครูบาศรีวิชัย ราว พ.ศ. 2469 ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาสุมนเถระนำมาจากทวีปลังกา จึงมีความเชื่อว่า อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตผู้เกิดปีมะโรง หากได้มีโอกาสมานมัสการพระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ จะเป็นมงคลอันสูงสุด
เจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา จ.เชียงใหม่ = ปีมะเส็ง
เป็นวัดที่สำคัญและเก่าแก่แห่งหนึ่งของเชียงใหม่ มีลักษณะคล้ายกับมหาวิหารโพธิที่พุทธคยา ในประเทศอินเดีย ที่ฐานเจดีย์ประดับปูนปั้นรูปเทวดา ด้านนอกพระเจดีย์ ประดับงานปูนปั้นรูปเทวดาทั้งนั่งขัดสมาธิและยืนทรงเครื่องที่มีลวดลายต่างกันไป
พระบรมธาตุเจดีย์ จ.ตาก = ปีมะเมีย
สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 แต่เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดพระเจ้าทันใจ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ มีพระพุทธรูปปางสมาธิ และสร้างเสร็จในหนึ่งวัน พระเจ้าทันใจนี้ร่ำลือกันว่าศักดิ์สิทธิ์นัก แต่ที่นับถือมากที่สุด คือ วัดพระบรมธาตุ โดยเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุได้จดจำเอารูปทรงของเจดีย์ชเวดากองมาสร้างครอบเจดีย์องค์เก่า ซึ่งมีรูปทรงสมัยสุโขทัย และสร้างพระบรมธาตุองค์เล็ก ๆ 16 องค์ เจดีย์ใส่พระพุทธรูปอีก 16 องค์ และโขงจุดไฟเทียนอีก 6 โขง ไว้รายรอบเจดีย์องค์ใหญ่ ด้านซ้ายมือของเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางมารวิชัย ภายในวิหารมีธรรมาสน์เก่าเป็นไม้แกะสลักอย่างวิจิตรงดงาม ด้านซ้ายของเจดีย์ เป็นพระอุโบสถครึ่งตึกครึ่งไม้ มีประตูไม้แกะสลักรูปป่าหิมพานต์ หน้าบันและจั่วเป็นไม้แกะสลักไว้อย่างวิจิตร และบานหน้าต่างมีภาพพระพุทธประวัติใช้ไม้แกะสลักปิดทอง
พระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ = ปีมะแม
สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 9 โดยพระเจ้ากือนาทรงรับสั่งให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาสุมนเถระ นำมาจากเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งได้ขุดพบจากนิมิตฝันของพระมหาสุมนเอง เมื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาสู่เชียงใหม่แล้ว พระธาตุได้แยกเป็นสองส่วน พระเจ้ากือนาทรงเลื่อมใส ได้อัญเชิญมาบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก ส่วนองค์ที่สองได้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้าง เพื่อเสี่ยงทายว่าช้างหยุดที่ใด ก็จะสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุที่นั่น ช้างมุ่งหน้ามาหยุดอยู่ที่ยอดดอยสุเทพ พระเจ้ากือนาทรงรับสั่งให้สร้างพระเจดีย์ ณ ที่นั้น มีขนาดสูง 5 วา เมื่อ พ.ศ. 1916 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2068 พระเจ้าเกษเกล้า กษัตริย์องค์ที่ 12 ของเชียงใหม่ ได้ทำการบูรณะพระเจดีย์ โดยนิมนต์พระมหาญาณมงคลโพธิ จากลำพูนมาเป็นประธานการบูรณะ และขยายพระเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม สูง 11 วา กว้าง 6 วา ที่ปรากฏทุกวันนี้
พระธาตุพนม จ.นครพนม = ปีวอก
ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ของภาคอีสาน ประดิษฐานบนเนินที่เรียกว่าภูกำพร้า สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ประมาณ พ.ศ. 8 โดยเจ้าเมือง 5 องค์ ลักษณะเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม หรือทรงแจกัน ก่อด้วยอิฐมีลวดลายจำหลักลงไปในแผ่นอิฐ มีซุ้มคั่นด้านละซุ้มซ้อนกัน 3 ชั้น ลดหลั่นกันลงมาอย่างวิจิตร พระธาตุพนมได้รับการบูรณะเรื่อยมาตามกาลเวลา และในวันที่ 11 สิงหาคม 2518 องค์พระธาตุพนมได้หักโค่นลง ประชาชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศได้ร่วมกันสละทุนทรัพย์ก่อสร้างขึ้นใหม่ และมีพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบรรจุอีกครั้งในวันที่ 23 มีนาคม 2522
พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน = ปีระกา
เป็นปูชนียสถานสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ภายในวัดเป็นลานกว้าง มีวิหารหลายหลัง หอระฆังสวยงาม ปรากฏในตำนานว่า สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์นครหริภุญชัยราว พ.ศ. 1586 ต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุนี้อีกหลายครั้งในรัชกาลพระเจ้าติโลกราช เมื่อ พ.ศ. 1986 ได้โปรดให้เสริมพระธาตุเป็น 23 วา ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก ยอดมีฉัตร 7 ชั้น หลังจากนั้น พระเมืองแก้วได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างระเบียงหอก ซึ่งเป็นรั้วล้อมพระธาตุ 500 เล่ม แล้วทรงสร้างวิหารหลวง ในปี พ.ศ. 2329 พระเจ้ากาวิละได้ทรงทำการบูรณะพระบรมธาตุ ทรงสร้างฉัตรหลวงขึ้น 4 มุม และสร้างฉัตรยอดเจดีย์ด้วยทองคำเป็น 9 ชั้น ฐานพระธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 10 วา และสร้างรั้วทองเหลืองล้อมรอบองค์เจดีย์ด้านในองค์พระธาตุเป็นสีทองอร่าม
พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี จ.เชียงใหม่ = ปีจอ
ตามพุทธประวัติได้กล่าวไว้ว่า สถานที่ประดิษฐานพระทันตธาตุที่พระอินทร์ นำมาจากพระบรมธาตุที่โทณพราหมณ์ได้แอบซ่อนไว้ เมื่อครั้งมีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าให้แก่เจ้าเมืองต่างๆ ด้วยเหตุที่พระธาตุเจดีย์องค์นี้ มนุษย์ไม่สามารถเดินทางไปถึงได้ ดังนั้น นอกจากนมัสการด้วยการบูชารูปแล้ว สามารถบูชาพระเจดีย์ที่วัดเกตการาม ซึ่งมีชื่อพ้องกับพระเกศแก้วจุฬามณี ตามประวัติ ว่าสร้างโดยพญาสามฝั่งแกน เมื่อ พ.ศ. 1971 แต่พระเจดีย์ได้พังทลายลง ในปี พ.ศ. 2121 พระสุทโธ รับสั่งให้สร้างขึ้นใหม่ให้เป็นเจดีย์ทรงลังกาแบบล้านนา นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพระวิหารใหญ่ที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ และพิพิธภัณฑ์เก็บของใช้พื้นบ้านให้ชม
พระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย = ปีกุน
ลักษณะเจดีย์สีทองอร่าม 2 องค์คู่กัน มีรูปทรงปราสาทยอด ทรงระฆังกลมขนาดเล็ก ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยม กรุกระเบื้องดินเผา ถือเป็นพระธาตุประจำปีกุน ซึ่งปีกุนในคติล้านนานั้น สัญลักษณ์คือช้าง (กุญชร) ไม่ใช่หมูดังที่เข้าใจกัน ตำนานของพระธาตุดอยตุงกล่าวว่า นี่คือเจดีย์แห่งแรกในอาณาจักรล้านนาอันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ที่พระเจ้าอชุตราชทรงอัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย ต่อมาครูบาศรีวิชัยได้ทำการบูรณะ และได้มีการสร้างพระธาตุองค์ปัจจุบันครอบพระธาตุองค์เก่าไว้
CR: AMAZING THAILAND, KAPOOK, PAINAIDI
ทัวร์ในประเทศคลิ๊ก https://bit.ly/30SpcPN
0
Leave a Reply